สาขาเคมีเชิงฟิสิกส์ (Physical Chemistry Division)
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางเคมีโดยอาศัยหลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์มาอธิบาย ทางสาขาวิชามุ่งเน้นด้านงานสอนวิชาพื้นฐานทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากงานสอนวิชาพื้นฐานแล้ว ทางสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์ยังมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานวิจัยในด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นงานวิจัยในห้องปฏิบัติการและงานวิจัยเชิงทฤษฎี เช่น
- การศึกษากลไกของปฏิกิริยาเคมีโดยใช้การคำนวณทางเคมีควอนตัม
- การสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาประเภทต่างๆ และศึกษาผลของตัวเร่งปฏิกิริยานั้นๆ
- การทั้งสังเคราะห์และการปรับแต่งโครงสร้างของวัสดุนาโน เช่น คาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotube) คาร์บอนนาโนชีท (carbon nanosheet)
- การออกแบบโครงสร้างของยาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้เคมีคำนวณ
- การวิจัยทางเคมีด้วยวิธีการที่ปรับปรุงมาจากวิทยาการสารสนเทศ (Cheminformatics)
- การสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช่ในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ชนิดต่างๆ เช่น พอลิโอเลฟิน พอลิแลกไทเ์ พอลิคาโพรแลกโทน เป็นต้น

งานวิจัย
ในการศึกษาด้วยระเบียบวิธีการคำนวณทางเคมีคอมพิวเตอร์นั้น ผู้ศึกษาจำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระเบียบวิธีการคำนวณที่เหมาะสมกับระบบที่ศึกษา รวมทั้งการสร้างแบบจำลองของโครงสร้างที่เหมาะสม ทั้งนี้การคำนวณทางเคมีคอมพิวเตอร์มีการแบ่งระดับการคำนวณออกมาในหลากหลายรูปแบบซึ่งจะขึ้นกับคุณสมบัติของระบบที่ต้องการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการศึกษาการจัดเรียงตัวของโมเลกุลของน้ำ (H2O) รอบไอออนของโลหะ (สมมติเป็น Na+) ในระบบนี้ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับการสร้างพันธะหรือการทำลายพันธะ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระเบียบวิธีที่พิจารณาถึงอิเล็กตรอน อาจใช้ระเบียบวิธีที่พิจารณาถึงการเคลื่อนที่ของโมเลกุล หรือ ไอออน ที่มีปัจจัยของการยืดหดของพันธะ การเปลี่ยนแปลงมุมภายในโมเลกุลและมุมระหว่างโมเลกุล ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยระเบียบวิธี Molecular Mechanics (MM) ก็เพียงพอ

ความร่วมมือทางด้านงานวิจัย
งานวิจัยของสาขาได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติคุณภาพสูง รวมถึงการร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจารย์และนิสิตได้รับประสบการณ์ด้านงานวิจัย และยังนำไปสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ดังต่อไปนี้
- Theoretical Inorganic Chemistry Group, Uppsala University, SWEDEN
- Laboratoire de Physico-Chimie Moléculaire, Université Bordeaux1, FRANCE
- Laboratoire d’Analyse Chimique par Reconnaissance Moleculaire, Ecole Nationale Supérieure de Chimie et de Physique de Bordeaux, Université Bordeaux 1, FRANCE
- Institute of Ion and Applied Physics, University of Innsbruck, AUSTRIA
- Institute for Theoretical Chemistry and Structural Biology, University of Vienna, AUSTRIA