มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล็งเห็นว่า วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน นั้นเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แทบทุกคณะ จากประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2504 เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน พุทธศักราช 2504 ได้มีมติหลักการ ให้มีการจัดตั้งคณะเพิ่มขึ้นคือ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ โดยรวมแผนกวิชาทางวิทยาศาสตร์และภาษาที่มีอยู่เดิม กับเปิดแผนกวิชาขึ้นใหม่อีกบ้างตามความจำเป็นและจะขยายงานออกไปอีกตามส่วนเพื่อให้เป็นรูปคณะที่สมบูรณ์ขึ้น เมื่อเป็นคณะใหม่แล้วย่อมเปิดโอกาสให้มีการสอนขั้นปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มี การค้นคว้าวิจัยในสาขานั้นๆ มากขึ้น และทำให้การสอนศาสตร์ต่างๆ ในระดับพื้นฐานมีมาตรฐานสูงขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่เดิมก็จะใช้ประโยชน์คุ้มค่ายิ่งขึ้น
ต่อมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงแต่งตั้งกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ร่างหลักสูตรและกฤษฎีกาจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2505 โดยมี ศาสตราจารย์เทอด สุปรีชากร เป็นประธานคณะกรรมการ ดร.สง่า สรรพศรี เป็นเลขานุการ และมีกรรมการอีก 14 คน ได้แก่:
- นายเฉลิมเกียรติ สุจินดา
- ดร.สุขุม อัศเวศน์
- ดร.โอวาท นิติทัณฑ์ประภาส
- ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ
- ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว
- นางสาวประไพรัตน์ ถิระวัฒน์
- นางสลวย กรุแก้ว
- ศาสตราจารย์ ดร.ทวี ญาณสุคนธ์
- ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร
- ศาสตราจารย์พนม สมิตานนท์
- ศาสตราจารย์จินดา เทียมเมธ
- ดร.เล็ก ธนสุกาญจน์
- นายเสรี ไตรรัตน์
- นางสาวประชุม ทัพภะสุต
คณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการร่างหลักสูตรและกฤษฎีกาจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย และเสนอร่างหลักสูตรและกฤษฎีกาจัดตั้งคณะฯ ต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหลักสูตรที่ร่างครั้งแรกเป็นหลักสูตร 5 ปี แต่สภาการศึกษาแห่งชาติขอให้ปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับสถาบันอื่น และหลักสูตร 5 ปีของคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็กำลังจะปรับลดเหลือ 4 ปี เช่นเดียวกัน ดังนั้นหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์จึงเป็นหลักสูตร 4 ปี
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจแก้ไขร่างหลักสูตรและกฤษฎีกาจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 3/2506 โดยให้ ศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร เป็นประธานกรรมการ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นกรรมการและเลขานุการ กับมีกรรมการอีก 3 คน คือ
- ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์
- ดร.ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล
- ศาสตราจารย์ ดร.ทวี ญาณสุคนธ์
ในที่สุดการดำเนินการก็เสร็จเรียบร้อยและได้นำเสนอร่างหลักสูตรต่อสภาการศึกษาแห่งชาติ จนกระทั่งได้มีประกาศตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2509 ซึ่งได้ให้ไว้ ณ วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2509 เป็นปีที่ 21 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพลตรีกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในมาตรา 2 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้ระบุให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้ประกาศไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 83 ตอนที่ 22 หน้า 228-232 ลงวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2509 ดังนั้นจึงได้ถือเอา วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2509 เป็นวันก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ นับเป็นคณะลำดับที่ 7 ที่ก่อตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มีสถานที่ทำการแรกอยู่ ณ ตึกหอสมุดเก่า หลังตึกพืชพรรณ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานของศูนย์พัฒนาและวางแผนการเกษตรของอาเซียน) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวี ญาณสุคนธ์ เป็นคณบดีคนแรก และ ดร.สนิท ทองสง่า เป็นเลขานุการคณะคนแรก เมื่อเริ่มแรกคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ประกอบด้วย 6 แผนกวิชากับ 1 หน่วยงาน คือ
- แผนกวิชาเคมี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ชุติมา เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่ตึกเคมี (ปัจจุบันเป็นกองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร) และเป็นแผนกที่ได้โอนมาจากคณะเกษตร
- แผนกวิชาคณิตศาสตร์ โดยมี นายชลิต เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่อาคารชั่วคราวชั้นเดียว ตรงข้ามกับคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) และเป็นแผนกที่ได้จัดตั้งใหม่
- แผนกวิชาชีววิทยา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวี ญาณสุคนธ์ เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่ตึกชีววิทยาเก่าหน้าอนุสาวรีย์หลวงสุวรรณฯ (ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ สามเสือแห่งเกษตรในปี 2538) และเป็นแผนกที่ได้โอนมาจากคณะเกษตร
- แผนกวิชาฟิสิกส์ โดยมี นายวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์ เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่อาคารเกษตรวิศวกรรม ปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นอาคารอินทรีจันทรสถิตย์ และเป็นแผนกที่ได้จัดตั้งใหม่
- แผนกวิชาภาษา โดยมี นางสาวประชุม ทัพภะสุต เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่ตึกธรรมศักดิ์มนตรี ปัจจุบันเป็นตึกวิจัยนิวเคลียร์เทคนิคการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และเป็นแผนกที่ได้โอนมาจากคณะเกษตร
- แผนกวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมี ดร.นิพนธ์ คันธเสวี เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่ตึกธรรมศักดิ์มนตรีชั้นบน และเป็นแผนกที่ได้จัดตั้งใหม่
- หน่วยพลังงานปรมาณู โดยมี ดร.อรรถ นาครทรรพ เป็นหัวหน้าหน่วย มีสำนักงานอยู่ที่เรือนรุกขรังสีหลังตึกชีววิทยาเก่า
- ในขณะนั้น สำนักเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการ
การเรียนการสอนในระยะเริ่มแรก
คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มีหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติเปิดสอน 2 สาย คือ
- สายวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์) เป็นหลักสูตร 4 ปี (145 หน่วยกิต) มีสาขาให้เลือก หลากสาขา ได้แก่ พฤกษศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา อินทรีย์เคมี จุลชีววิทยา ชีวเคมี คณิตศาสตร์
- สายศิลปศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (สังคมศาสตร์) และหลักสูตรศิลปศาสตร์ (มนุษยศาสตร์) ทั้งสองหลักสูตรเป็นหลักสูตร 4 ปี (145 หน่วยกิต)
คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ได้รับนิสิตเฉพาะสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น และแผนกวิชาที่พร้อมจะรับนิสิตเข้าศึกษาในสาขาวิชาเอกมีเพียง 2 แผนกวิชาคือ แผนกเคมี และแผนกชีววิทยา ดังนั้นบัณฑิตรุ่นแรกที่จบการศึกษาส่วนใหญ่จะจบทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา
ได้รับนิสิตสายศิลปศาสตร์ และปีเดียวกันนี้ก็ได้เริ่มการเปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สัตววิทยา) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พฤกษศาสตร์) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ชีววิทยา) และ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยา) รวม 4 สาขาวิชาในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (ในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย)
มีมหาบัณฑิตจบการศึกษารุ่นแรกจำนวน 8 ราย ส่วนนิสิตปริญญาตรีรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาในปีพุทธศักราช 2512 จำนวน 1 ราย ในปีพุทธศักราช 2513 จำนวน 32 ราย และในปีถัดมา พุทธศักราช 2514 บัณฑิตสายศิลปศาสตร์รุ่นแรกสำเร็จการศึกษา จำนวน 22 ราย เป็นสาขาสังคมศาสตร์ 13 ราย สาขามนุษยศาสตร์ 9 ราย
มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งแรกให้เป็นสากลนิยมคือ เปลี่ยนชื่อปริญญาจาก ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์) มาเป็น ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์) ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมี) ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (ฟิสิกส์) ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยา) ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (สถิติ) ส่วนสายศิลปศาสตร์ เปิดสอน 2 ปริญญาคือ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษา) ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์) และยกเลิกปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (สังคมศาสตร์) และปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (มนุษยศาสตร์) ไป
ภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้โอนไปสังกัดคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งตั้งขึ้นในปีนั้น พร้อมทั้งโอนนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่รับเข้ามาในสายศิลป-คณิต ไปสังกัดคณะสังคมศาสตร์ ส่วนนิสิตสาขาศิลป-ภาษา ยังคงอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2524 ภาควิชาภาษาได้โอนไปสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ จึงโอนนิสิตสายศิลป-ภาษา ทั้งหมดไปสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น คณะวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2524 โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2545
ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์แบ่งส่วนงานออกเป็น 13 ภาควิชา และ 1 ส่วนงานระดับเทียบเท่าภาควิชา ได้แก่:
- สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์
- ภาควิชาคณิตศาสตร์
- ภาควิชาเคมี
- ภาควิชาจุลชีววิทยา
- ภาควิชาชีวเคมี
- ภาควิชาพฤกษศาสตร์
- ภาควิชาพันธุศาสตร์
- ภาควิชาฟิสิกส์
- ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป
- ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
- ภาควิชาวัสดุศาสตร์
- ภาควิชาสถิติ
- ภาควิชาสัตววิทยา
และได้ทำการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ในระดับปริญญาตรีจำนวน 15 หลักสูตร ระดับปริญญาโทจำนวน 14 หลักสูตร และระดับปริญญาเอกจำนวน 10 หลักสูตร
นอกจากนี้ ยังเปิดสอนหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งเดิมเป็นหลักสูตร 2 ปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2518-2523 และในปีพุทธศักราช 2524 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตร 1 ปี และได้ใช้หลักสูตรนี้มาจนถึงปัจจุบัน